Wednesday, May 6, 2015

กลยุทธ์ความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจตามมาตรฐาน ISO 22301:2012



กลยุทธ์ความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจตามมาตรฐาน ISO 22301:2012

Business Continuity หรือ “ความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ” เป็นเรื่องที่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน เพราะขั้นตอนการทำงาน การบริหารจัดการต่างๆ มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น เทคโนโลยีและสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ลูกค้า คู่ค้า ตลอดจนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนมีความคาดหวังกับธุรกิจขององค์กรเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในขณะเดียวกันก็ผลักดันให้ระดับความเสียง ภัยคุกคาม ความท้าทาย และอุปสรรคต่างๆ เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

ผมเชื่อว่าทุกองค์กรตระหนักกันเป็นอย่างดี ว่าการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจมีความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ที่ต้องเร่งรัดดำเนินการ แต่หลายท่านก็อาจจะยังไม่มั่นใจว่าควรจะเริ่มต้นอย่างไรดี ผมจึงอยากแนะนำตัวช่วยให้กับทุกท่าน นั้นก็คือมาตรฐานสากล ISO 22301:2012 ซึ่งมีเนื้อหาและข้อกำหนดที่ดีเลิศเปรียบเสมือนแผนที่ชี้นำแนวทาง ช่วยให้ท่านไม่จำเป็นต้องเสียเวลาลองผิดลองถูก และสามารถบริหารจัดการความต่อเนื่องของธุรกิจได้อย่างมืออาชีพ

สำหรับการกำหนดกลยุทธ์สร้างความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจนั้น ท่านสามารถเปิดดูแนวทางได้จากข้อกำหนด 8.3 ของมาตรฐาน ซึ่งกระบวนการวางแผนกำหนดกลยุทธ์นี้จัดเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะจะช่วยให้การบริหารจัดการเป็นเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับความต้องการขององค์กร ซึ่งผมได้ทำสรุปมาให้ทุกท่านได้ศึกษากันเบื้องต้นแล้วครับ ดังนี้


9 สิ่งสำคัญในกระบวนการกำหนดกลยุทธ์สร้างความต่อเนื่องของธุรกิจการตามมาตรฐาน ISO 22301:2012
  • องค์กรต้องประเมินและคัดเลือกกลยุทธ์ โดยอาศัยผลจากการวิเคราะห์ผลกระทบทางธุรกิจ (Business Impact Analysis) มาเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการพิจารณา
  • องค์กรต้องกำหนดกลยุทธ์ โดยพิจารณาตามความสำคัญของสินค้าและบริการ รวมถึงกระบวนการทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • กลยุทธ์ที่เลือกใช้ต้องสามารถลดโอกาสที่ธุรกิจจะหยุดชะงัก ต้องลดระยะเวลาการหยุดชะงักให้สั้นลง และต้องจำกัดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
  • กลยุทธ์ความต่อเนื่องทางธุรกิจต้องมีความสอดคล้องกับความต้องการทางด้านความพร้อมใช้งาน (Availability Requirement) ขององค์กร
  • องค์กรต้องประเมินและจัดเตรียมทรัพยากรที่จำเป็นในการสร้างความต่อเนื่องทางธุรกิจให้พร้อมอยู่เสมอ  อาทิ บุคลากร, ข้อมูล, ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ, ระบบสาธารณูปโภค, อาคารสถานที่ และผู้ให้บริการภายนอก เป็นต้น
  • องค์กรต้องประเมินความสามารถในการบริหารจัดการความต่อเนื่องของผู้ให้บริการภายนอก และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ให้สอดคล้องตามความต้องการด้านการสร้างความต่อเนื่องทางธุรกิจขององค์กร
  • กลยุทธ์ที่เลือกใช้ต้องทำให้ความเสี่ยงต่างๆ ขององค์กรลดลงมาอยู่ในระดับที่องค์กรยอมรับได้
  • กลยุทธ์ในการสร้างความต่อเนื่องทางธุรกิจต้องได้รับการทดสอบ ทบทวน และปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ
  • กลยุทธ์ในการสร้างความต่อเนื่องทางธุรกิจต้องสามารถนำมาใช้ปฏิบัติงานได้จริง





Content Cr : DestinationOne Counselor
Photo Cr : Expert Images

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.