วัฒนธรรมความมั่นคงปลอดภัยที่ทุกองค์กรต้องสร้างให้สำเร็จ
วัฒนธรรมองค์กร คือ แนวทางหรือความเชื่อที่สมาชิกขององค์กรร่วมกันยึดถือปฏิบัติ
เพื่อความเป็นระเบียบ สร้างความเจริญก้าวหน้า และช่วยให้สามารถฝันฝ่าปัญหาและอุปสรรคต่างๆ
ไปได้พร้อมกัน ดังนั้น เมื่อพิจารณาแล้วทุกท่านคงจะเห็นตรงกันว่าวัฒนธรรมองค์กรนี้มีความสำคัญต่อความอยู่รอดขององค์กรมากเพียงใด
ในบทความนี้ ผมอยากจะพูดเจาะจงถึงการสร้างวัฒนธรรมองค์กรในด้านที่เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัย
ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความรู้กับบุคลากรในทุกระดับชั้น เพื่อให้มีความเข้าใจถึงประโยชน์และมองเห็นคุณค่า
จนเกิดเป็นจิตสำนึกในการปฏิบัติภารกิจการงานทุกชนิดโดยคำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยเป็นหลักอยู่ตลอดเวลา
ซึ่งจะส่งผลให้ข้อมูล ระบบ บริการ และทรัพย์สินต่างๆ ขององค์กรคงไว้ซึ่ง ความลับ (Confidentiality),
ความถูกต้อง
(Integrity) และความพร้อมใช้งาน (Availability) อยู่เสมอ
ธุรกิจขององค์กรจึงจะสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและมีภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือ
โดยผมและทีมงาน DestinationOne ได้ช่วยกันรวบรวมและสรุปมาตรการความมั่นคงปลอดภัยพื้นฐาน
ที่ท่านผู้บริหารจะต้องมุ่งมั่นสนับสนุนผลักดัน และบุคลากรทั้งหมดจะต้องร่วมมือปฏิบัติและร่วมใจยึดถือ
เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรด้านความมั่นคงปลอดภัยให้สำเร็จเกิดขึ้นจนได้ครับ
12 วัฒนธรรมความมั่นคงปลอดภัยที่ทุกองค์กรต้องมี
- ทำอะไรก็ตาม ต้องคำนึงถึง “ความเสี่ยง” ด้านความมั่นคงปลอดภัย
- ต้อง “ป้องกัน” ก่อนแก้ไขเสมอ
- จำไว้ว่าข้อมูล กระบวนการทำงาน และทรัพย์สินทุกอย่างมีมูลค่าทางด้านความมั่นคงปลอดภัย
- ต้องมี “การควบคุมการเข้าถึง” กับทรัพย์สิน ระบบ และสถานที่ทุกประเภท
- หนึ่งคน “หนึ่งผู้ใช้งาน”
- “รหัสผ่าน” ต้องยาก หลากหลาย แต่จดจำง่าย (สำหรับเจ้าของ)
- การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ต้องผ่าน “กระบวนการควบคุมการเปลี่ยนแปลง” เสมอ
- หากสังเกตพบสิ่งผิดปกติต้องรายงานผ่าน ”กระบวนการบริหารจัดการเหตุอุบัติการณ์” ทางด้านความมั่นคงปลอดภัย
- การจัดซื้อ จัดจ้าง จัดพัฒนา และจัดบำรุงรักษาอะไรก็ตาม ต้องคำนึงถึง “ความมั่นคงปลอดภัย” เสมอ
- มัลแวร์ หรือ ไวรัส พร้อมโจมตีอยู่เสมอและตลอดเวลา โปรดระมัดระวัง
- ทุกอย่างของความมั่นคงปลอดภัย เริ่มต้นที่ “คน”
- กฎหมาย และนโยบายองค์กรต้อง “ปฎิบัติ” อย่างสม่ำเสมอ
การสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ได้ผลดี
ต้องเริ่มจากผู้บริหารที่มีความเข้าใจ ให้การสนับสนุน และประพฤติตนเป็นแบบอย่าง
โดยกำหนดนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานที่ชัดเจนแล้วสื่อสารออกไปอย่างทั่วถึงทั้งองค์กร
เมื่อบุคลากรมองเห็นและยอมรับก็จะเกิดเป็นการปฏิบัติโดยกิจวัตร นั่นคือรู้สึกว่าการทำงานต่างๆ
อย่างมั่นคงปลอดภัยนั้นเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่ภาระส่วนเกินแต่อย่างใด รวมถึงมีการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
เมื่อนั้นองค์กรก็จะมีความมั่นคงปลอดภัยอย่างยั่งยืน
และเจริญเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นใจ
Photo Cr : MS Cliparts
No comments:
Post a Comment
Note: Only a member of this blog may post a comment.