Monday, December 15, 2014

10 กลยุทธ์เพื่อปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วยสำหรับโรงพยาบาล

10 กลยุทธ์เพื่อปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วยสำหรับโรงพยาบาล

นอกจากสถาบันทางการเงินแล้ว ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วเช่นในปัจจุบัน “โรงพยาบาล” ก็จัดเป็นสถาบันอีกประเภทหนึ่งที่ตกเป็นเป้าหมายยอดนิยมของการโจมตีโดยเหล่าแฮ็กเกอร์ทั้งหลาย ข่าวการเจาะระบบฐานข้อมูลโรงพยาบาลหรือการโจรกรรมข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วยเริ่มมีให้เห็นถี่ขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น โรงพยาบาลจึงจำเป็นที่จะต้องวางแผนกลยุทธ์เพื่อปกป้องข้อมูลสำคัญดังกล่าว

เมื่อไม่นานมานี้ เครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยและการบริหารความเสี่ยงโรงพยาบาล (PHI Protection Network) ได้เผยแพร่คำแนะนำเพื่อการปกป้องข้อมูลสำคัญของผู้ป่วยและสถานพยาบาลที่จำเป็นสำหรับปี 2015 ซึ่งทีมที่ปรึกษา Destination One ได้สรุปสาระสำคัญ เพื่อให้คุณสามารถนำแนวคิดที่เป็นประโยชน์ไปประยุกต์ใช้ได้สะดวกยิ่งขึ้นดังนี้


1. ผู้บริหารของโรงพยาลจะต้องแสดงความเป็นผู้นำ : แค่เพียงจัดตั้งทีมงานความมั่นคงปลอดภัยแล้วปล่อยให้พวกเขาทำงานกันเองนั้นยังไม่เพียงพอ ผู้บริหารระดับสูงของโรงพยาบาลควรจะแสดงบทบาทความเป็นผู้นำอย่างจริงจัง และกำหนดให้บุคลากรทุกคนต้องมีสำนึกในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร

2. รวบรวมและระบุข้อมูลทั้งหมดของโรงพยาบาล : คุณจะต้องรวบรวมและระบุอย่างชัดเจนได้ว่าภายในโรงพยาบาลนั้น มีการใช้งานข้อมูลอะไรบ้าง มีการบริหารจัดการยังไง และถูกเก็บรักษาอย่างไร

3. กำหนดแนวทางปกป้องข้อมูลและจำกัดการเข้าถึงข้อมูล : คุณจะต้องกำหนดแนวทางควบคุมการใช้งานข้อมูลอย่างมั่นคงปลอดภัย และสื่อสารทำความเข้าใจแนวทางดังกล่าวกับบุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด นอกจากนั้น ยังจะต้องจำกัดการเข้าถึงข้อมูลให้สามารถใช้งานได้เฉพาะบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องจำเป็นจริงๆ เท่านั้น

4. ประเมินความเสี่ยง : โรงพยาบาลจะต้องกำหนดกระบวนการประเมินความเสี่ยงอย่างชัดเจน เพื่อประเมินระบบ, เครื่องมือ, อุปกรณ์, บริการ และซัพพลายเออร์ที่จะจัดซื้อหรือจัดจ้างมาใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่จัดหามาใหม่นั้นมีความมั่นคงปลอดภัยอย่างพอเพียง

5. การบริหารจัดการผู้ให้บริการภายนอก :  คุณต้องมีกระบวนการบริหารจัดการผู้ให้บริการภายนอก โดยตรวจสอบและทบทวนกระบวนการทำงานว่ามีความมั่นคงปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ ข้อสังเกตอย่างหนึ่งก็คือผู้ให้บริการที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยมักจะมีจุดอ่อนและความเสี่ยงในการทำงานมากกว่า เพราะข้อจำกัดด้านทรัพยากรที่ด้อยกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่นั่นเอง

6. เน้นแผนการเชิงรุก : โรงพยาบาลจำเป็นที่จะต้องมีแผนกลยุทธ์เชิงรุกในการปกป้องความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลผู้ป่วย เพราะหากโรงพยาลใดที่สามารถสร้างผลงานได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานทั่วไป จะทำให้มีภาพลักษณ์ของความเป็นผู้นำในกลุ่มธุรกิจทันที

7. สนับสนุนให้การรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลเป็นหนึ่งในเกณฑ์การพัฒนาเทคโนโลยี : เทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนฟังก์ชั่นการใช้งานด้านสุขภาพนั้นมีเพิ่มสูงขึ้น อาทิ Apple Watch หรือ Internet of Things แต่ยังมีหลักฐานน้อยมากว่าผู้พัฒนาเทคโนโลยีนั้นใส่ใจในการรักษาความลับให้กับข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน

8. การวัดผลและการปรับปรุง : คุณจำเป็นต้องออกแบบกระบวนการต่างๆ ให้สามารถวัดผลได้ เพราะคุณจะไม่สามารถบริหารจัดการและปรับปรุงสิ่งใดๆ ได้เลย หากสิ่งนั้นไม่สามารถวัดผลได้

9. ลองมองหาระบบอื่นๆ เพิ่มเติมที่อาจจะเกี่ยวข้องกับข้อมูลผู้ป่วย : ในโรงพยาบาลมีการใช้งานระบบต่างๆ อยู่มากมาย ซึ่งอาจจะยังมีระบบอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากการควบคุมในปัจจุบัน อาทิ ระบบวอยซ์เมล์, ระบบบันทึกเสียงสนทนาโทรศัพท์ หรือ ระบบกล้องวงจรปิด เป็นต้น ซึ่งอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อมูลผู้ป่วย ดังนั้น โรงพยาลจึงต้องขยายการควบคุมไปยังระบบเหล่านี้เพิ่มเติมด้วย

10. ตอกย้ำวัฒนธรรมในการปกป้องข้อมูลของผู้ป่วย : บุคลากรของโรงพยาบาลทุกคนจะต้องให้ความสำคัญในการปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วยและสถานพยาบาลเป็นสำคัญ



ที่มา : www.net-security.org
เรียบเรียง : DestinationOne Counselor
ภาพประกอบ : MediaPal

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.