Tuesday, March 27, 2018

Cyber Security: ภัยคุกคามบนโลกไซเบอร์ที่ต้องพึงระวัง 1


Cyber Security: ภัยคุกคามบนโลกไซเบอร์ที่ต้องพึงระวัง (ตอนที่ 1)



Cyber Security หรือ “ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงในทุกภาคส่วน แต่เดิมคนมักจะเข้าใจว่ามันเป็นประเด็นในระดับองค์กรเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง การโจมตีของแฮ็กเกอร์ไม่เคยเลือกที่รักมักที่ชัง ต่อให้เป็นผู้ใช้งาน Smart Device หรือคอมพิวเตอร์ตามบ้านทั่วไปก็สามารถตกเป็นเหยื่อของภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้เพียงแค่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ท



เมื่อการสื่อสารและเทคโนโลยีมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ไวจนถึงขั้นบางจังหวะสามารถรู้สึกได้ถึงความน่ากลัว เราได้ยินข่าวการโจมตีระบบหรือเว็บไซต์ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์ของการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว PyeongChang Games 2018 ประเทศเกาหลีใต้ ถูกโจมตีจนไม่สามารถให้บริการได้นานถึง 12 ชั่วโมง ในระหว่างนั้นการจองตั๋วออนไลน์และระบบต่างๆ จึงเกิดการหยุดชะงัก สร้างความเสียหายทั้งทางด้านรายได้และภาพลักษณ์



ยิ่งนับวันอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ทตามบ้านก็ยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จากโทรศัพท์บ้านก็กลายเป็นสมาร์ทโฟน หรือแม้แต่โทรทัศน์ก็ถูกอัพเกรดเป็นสมาร์ททีวี สรุปได้ว่า Internet of Things เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งสิ่งที่ตามมาพร้อมกันก็คือจุดอ่อนที่เปิดช่องให้แฮ็กเกอร์สามารถเข้าถึงตัวเราได้ง่ายขึ้น เช่น การล้วงข้อมูล การแกล้งสั่งเปิดปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน การแอบเบิกเงินออกจาบัญชีธนาคารไปหมดในพริบตา แต่สิ่งเหล่านี้เราสามารถลดความเสี่ยงได้หากมีสติ และมีการเตรียมพร้อมจัดหาระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยอย่างเหมาะสม



อาชญากรไซเบอร์ที่พุ่งเป้ามาโจมตีครัวเรือนก็เพราะครอบครัวส่วนใหญ่ยังขาดการปกป้องและป้องกัน ยกตัวอย่างว่ามีเด็กนับล้านที่เป็นผู้ใช้งานสมาร์ทโฟน เครื่องเหล่านี้ได้รับการลงแอพสแกนไวรัสบ้างหรือไม่ มีการปกป้องด้วยรหัสผ่านบ้างหรือเปล่า มีการควบคุมการเข้าถึงเว็บไซต์สุ่มเสี่ยงบ้างไหม ฯลฯ ดังนั้น สิ่งที่เราสามารถทำได้ง่ายและดีที่สุดก็คือการทำความเข้าใจและหาความรู้เกี่ยวกับเรื่อง Cyber Security และ Cyber Threats





หากเราติดตามข่าวสาร เรามักจะได้ยินคำเตือนให้ระวังการโจมตีของมัลแวร์ (Malware) หรือไม่ก็ระวังอีเมล์/เว็บไซต์ฟิชชิ่ง (Phisshing) ฯลฯ แล้วเราพอจะทราบหรือไม่ว่าคำศัพท์พวกนี้หมายความถึงอะไร.. การทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้จะช่วยให้คุณเข้าใจคำแจ้งเตือนต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น ผลที่ตามก็คือเราสามารถกำหนดมาตรการปกป้องและป้องกันได้อย่างเหมาะสม บทความนี้จะมาให้คำอธิบายอย่างง่ายเพื่อเริ่มเรียนรู้ไปด้วยกัน



มัลแวร์ & ไวรัส :



หลายคนมักจะสับสนและใช้ 2 คำนี้ในความหมายสลับกัน -ไวรัส(Virus) ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเชื้อโรคในร่างกายคน แต่เป็นคำเปรียบเปรยการทำงานที่คล้ายคลึงกัน ไวรัสคอมพิวเตอร์คือโปรแกรมที่มีการเขียนชุดคำสั่งเฉพาะบนระบบปฏิบัติการนั้นๆ เพื่อให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง มักจะแฝงตัวมากับแอพพลิเคชั่นหรือไฟล์ และสามารถแพร่กระจายไปยังเครื่องอื่นๆ ได้ แต่ไวรัสจะทำงานก็ต่อเมื่อมีการรันแอพพลิเคชั่นหรือเปิดไฟล์เท่านั้น - ส่วน “มัลแวร์(Malware) เป็นชื่อเรียกโดยรวมของโปรแกรมทุกชนิดที่ถูกออกแบบมาเพื่อมุ่งร้ายต่อคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นไวรัส, เวิร์ม, โทรจัน, สปายแวร์ โดยสรุปแล้วไวรัสก็คือมัลแวร์ประเภทหนึ่งนั่นเอง



สำหรับมัลแวร์ตัวอื่นๆ ที่อาจจะคุ้นชื่อกันอยู่บ้างนั้น เช่น



เวิร์ม (Worm) : มีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถแพร่กระจายหรือสำเนา (Copy) ตัวเองไปยังคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เครื่องอื่นๆได้เอง ผ่านทางระบบเครือข่าย เช่น อีเมล์ หรือแชร์ไฟล์ แต่ความแตกต่างระหว่างเวิร์มกับไวรัส ก็คือเวิร์มไม่จำเป็นต้องใช้โปรแกรมปฏิบัติการเพื่อทำงาน (โปรแกรมปฏิบัติการคือโปรแกรมที่ใช้รันหรือเรียกใช้โค้ด โดยทั่วไปมักจะลงท้ายด้วยนามสกุลไฟล์ .exe และต้องได้รับอนุญาตจากผู้ใช้ก่อนเพื่อดำเนินการต่อไป) ถ้าคุณเคยดาวน์โหลดโปรแกรมจากเว็บไซต์ที่มีเวิร์มแฝงมาด้วยและติดตั้งไว้ในคอมพิวเตอร์ของคุณแล้ว นั่นหมายความว่าคุณได้อนุญาตและเปิดประตูรับสิ่งแปลกปลอมเข้ามาแล้วนั่นเอง



โทรจัน (Trojan) : ดูเผินๆ ก็คล้ายกับโปรแกรมที่ปลอดภัยทั่วไป แต่อันที่จริงแล้วจะสร้างความเสียหายเมื่อผู้ใช้หลงเชื่อนำไปติดตั้ง โปรแกรมอันตรายก็จะแอบเจาะระบบและข้อมูลโดยที่ผู้ใช้ไม่รู้ตัว



สปายแวร์ (Spyware) : จะคอยแอบดูพฤติกรรมและบันทึกการใช้งานของผู้ใช้ รวมถึงคอยดักขโมยข้อมูลส่วนตัว ทำพฤติกรรมเหมือนนักสืบ เช่น บัญชีผู้ใช้งาน, รหัสผ่าน หรือข้อมูลทางการเงิน แล้วส่งออกไปยังเครื่องปลายทางของแฮ็กเกอร์



นอกจากนี้ ยังมีมัลแวร์อีก 2 ตัวที่ควรทำความรู้จักไว้ด้วย คือ  “Backdoorซึ่งเป็นการเปิดช่องทางให้ผู้อื่นเข้ามาใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราโดยที่ไม่รู้ตัว และ “Rootkitที่เปิดช่องทางให้ผู้อื่นเข้ามาติดตั้งโปรแกรมเพิ่มเติมเพื่อควบคุมเครื่อง พร้อมกับได้ครอบครองสิทธิ์ของผู้ดูแลระบบ (Root)



ข้อแนะนำในการป้องกันมัลแวร์



  • อัพเดทคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ในเครื่องอย่างสม่ำเสมอ
  • ติดตั้งโปรแกรมป้องกันมัลแวร์ (Anti-malware) ในอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ททั้งหลายของ โดยเฉพาะในเครื่องของเด็กๆ และต้องสอนเขาในเรื่องการใช้งานออนไลน์อย่างปลอดภัยและถูกวิธี
  • ระมัดระวังการใช้งานอุปกรณ์เชื่อมต่อทั้งหลาย เช่น USB Drive, External Hard disk และควรทำการสแกนไวรัสทุกครั้งก่อนใช้งาน
  • ไม่คลิกข้อความโฆษณาหรือหน้าต่าง Pop-up ปลอม (Adware) บนเว็บไซต์ใดๆ เพราะจะเป็นการเริ่มดาวน์โหลดมัลแวร์ ทั้งนี้ ควรจะเช็คและตรวจสอบก่อนคลิกเสมอ
  • ไม่ดาวน์โหลดไฟล์หรือโปรแกรมจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือเสี่ยงต่อการมีมัลแวร์แฝงอยู่ หากจำเป็น ต้องทำการสแกนก่อนที่คุณจะติดตั้งมันลงในเครื่อง โดยเฉพาะไฟล์นามสกุล .exe
  • หลีกเลี่ยงการเปิดอีเมล์ รวมถึงไฟล์แนบที่ต้องสงสัย ที่ส่งมาจากอีเมล์ที่เราไม่รู้จัก และต้องตรวจสอบทุกครั้งก่อนดาวน์โหลดหรือเปิดไฟล์ขึ้นมา



การใช้งานอินเตอร์เน็ตนับเป็นดาบสองคม มีทั้งประโยชน์และโทษในตัว จงจำไว้ว่าเมื่อใดก็ตามที่คุณเชื่อมต่อกับโลกอินเตอร์เน็ต คุณก็มีโอกาสตกเป็นเป้าโจมตีของผู้ไม่หวังดีแล้ว!!




Content Cr: DestinationOne Counselor
Photo Cr: ShutterStock

Monday, March 19, 2018

7 จุดอ่อนด้านความมั่นคงปลอดภัยที่ทุกองค์กรต้องมีมาตรการป้องกัน



7 จุดอ่อนด้านความมั่นคงปลอดภัยที่ทุกองค์กรต้องมีมาตรการป้องกัน

เมื่อการดำเนินธุรกิจในโลกทุกวันนี้ต้องอาศัยความได้เปรียบทางสารสนเทศเพื่อเอาชนะคู่แข่งขัน ไม่ว่าจะเอามาใช้ในการให้บริการแก่ลูกค้า การวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ฯลฯ และอย่างที่เคยย้ำกันมาแล้วหลายครั้งว่า การนำเอาไอทีเข้ามาใช้งานมากเท่าไรก็ยิ่งจะนำเอาความเสี่ยงและภัยคุกคามตามมามากขึ้นทวีคูณ ในบทความนี้ทีมงานของผมจึงได้รวบรวมเอาจุดอ่อนด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ 7 ประการ ที่องค์กรทั่วไปมักจะต้องเผชิญและจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการรับมือ


กระบวนการทางธุรกิจขาดความมั่นคงปลอดภัย : ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรควรจะเป็นผู้ริเริ่มและให้ความสำคัญกับความมั่นคงปลอดภัยควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ โดยในการวางแผนหรือออกแบบกระบวนการ โครงการต่างๆ จำต้องมีการพิจารณาเรื่องความมั่นคงปลอดภัยด้วยเสมอ

บุคลากรขาดความตระหนักรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัย : บุคลากรในทุกระดับขององค์กรควรจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัย เพื่อให้สามารถคิด วิเคราะห์ และดำเนินการต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม

ระบบปฏิบัติการและโปรแกรมประยุกต์ต่างๆ ไม่ได้รับการอัพเดท : เจ้าของผลิตภัณฑ์/ผู้พัฒนา OS และแอพพลิเคชั่นต่างๆ มักจะมีการปรับปรุงระบบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อปรับปรุงการใช้งาน ปิดจุดอ่อนหรือช่องโหว่ต่างๆ ตามความเปลี่ยนแปลง ซึ่งหากไม่มีการอัพเดทอาจจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการถูกโจมตี หรือระบบอาจจะทำงานช้าจนถึงใช้งานไม่ได้

ไม่มีการทดสอบด้านความมั่นคงปลอดภัย : ในการจัดซื้อ/จัดจ้าง ควรจะมีการทดสอบความมั่นคงปลอดภัยร่วมด้วยนอกเหนือจากการทดสอบฟังก์ชั่นการทำงานเพียงอย่างเดียว เพราะผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีความมั่นคงปลอดภัยตั้งแต่ต้นย่อมดีที่สุดเสมอ

การบริหารจัดการโครงการขาดความมั่นคงปลอดภัย : ในการบริหารจัดการโครงการต่างๆ ควรจะต้องมีการตั้งเป้าหมายด้านความมั่นคงปลอดภัยร่วมด้วย เพื่อให้การดำเนินการและผลงานที่สำเร็จมีความราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลไม่ได้รับการแบ่งชั้นความลับและการจัดการอย่างเหมาะสม : ข้อมูลคือทรัพย์สินที่สำคัญที่สุด แต่องค์กรส่วนใหญ่กลับละเลยในการจัดประเภทชั้นความลับของข้อมูล ซึ่งผลที่ตามมาก็คือข้อมูลสำคัญ เช่น ข้อมูลลับทางการค้า สัญญาต่างๆ ฯลฯ ไม่ได้รับการปกป้องดูแลอย่างเหมาะสม

ไม่มีกระบวนการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลง : ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ อาทิ การเปลี่ยนระบบที่ตกรุ่นให้ทันสมัย ฮาร์ดแวร์ชำรุดต้องมีการจัดซื้อของใหม่มาทดแทน การเปลี่ยนตัวบุคลากรที่รับผิดชอบงาน ฯลฯ หากไม่มีการวิเคราะห์ความเสี่ยง ผลกระทบ หรือจัดหาแผนสำรองฉุกเฉินอย่างเหมาะสม การเปลี่ยนแปลงนั้นอาจจะทำให้เกิดการหยุดชะงักหรือผลกระทบเชิงลบได้





Content Cr: DestinationOne Counselor
Photo Cr: 123RF