Friday, September 28, 2018

แก้ปัญหาสมาร์ทโฟนอินเตอร์เน็ตช้าค่าใช้จ่ายสูง ด้วยการวางแผน Cellular Data


แก้ปัญหาสมาร์ทโฟนอินเตอร์เน็ตช้าค่าใช้จ่ายสูง ด้วยการวางแผน Cellular Data

ในฐานะผู้ใช้ Smartphone คุณเคยสังเกตบ้างหรือไม่ว่าในแต่ละวันคุณได้ใช้ (Cellular) Data ไปมากน้อยเพียงใด ในปัจจุบันสมาร์ทโฟนถูกพัฒนาให้มีความสามารถมากขึ้น ใส่เทคโนโลยีใหม่ๆ กล้องความละเอียดสูง และคุณสมบัติอื่นๆ อีกมากมายเข้าไป ซึ่งมาพร้อมปริมาณการใช้งานข้อมูลที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอันที่จริงแล้วข้อมูลเหล่านั้นอาจจะเกินความต้องการสำหรับบางท่าน

การใช้ข้อมูลปริมาณมากนี้ก็คือที่มาของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น แม้ว่าบางท่านอาจจะใช้งานแพ็คเกจอินเตอร์เน็ตที่ไม่จำกัดปริมาณข้อมูล (Unlimited Package) แต่การใช้งานแอพต่างๆ สมัยนี้ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องมีการรับ-ส่งข้อมูล หรือแม้แต่ทำงานเบื้องหลังอยู่ตลอดเวลา เป็นเหตุให้การทำงานของเครื่องช้าลง แบตเตอรี่หมดไวขึ้น

ในบทความนี้ ทีมงาน DestinationOne จึงมีคำแนะนำเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความเร็วให้กับการทำงานของสมาร์ทโฟน



  • ตั้งค่าการอัพเดตแอพ เมื่อคุณเชื่อมต่อเครือข่ายผ่าน Wi-Fi เท่านั้น เพราะแอพที่ติดตั้งบนสมาร์ทโฟนยุคนี้มีกันเครื่องละไม่น้อย การอัพเดตแต่ละแอพก็ใช้ปริมาณข้อมูลไม่ต่ำกว่า 100MB ลองคิดกันคร่าวๆ ว่า หากมีการอัพเดตทุกเดือนหรือบ่อยกว่านั้น เราต้องใช้ดาต้าไปเกือบ 3GB!! เลยทีเดียว ฉะนั้น จึงควรตั้งค่าให้มีการอัพเดตเมื่อเชื่อมต่อ Wi-Fi หรืออัพเดตด้วยตนเอง
  • เช็คความเร็วของเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเป็นระยะๆ เพราะความเร็วการ Upload/Download นั้น ส่งผลกับการใช้ข้อมูลและแบตเตอรี่ของมือถือ
  • ลบ Junk File บ่อยๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่บนสมาร์ทโฟน ไม่ให้ทำงานหนักเกินไป
  • ปิดโหมดการเล่นอัตโนมัติ (Auto Play) ในทุกแอพ เพราะบางครั้งคลิปวิดีโอที่เล่นอัตโนมัตินั้นไม่ใช่สิ่งที่คุณต้องการรับชม ซึ่งจะทำให้ปริมาณดาต้ามากมายต้องสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์
  • ยกเลิกกระบวนการที่ไม่จำเป็นที่ทำงานอยู่เบื้องหลัง (Background) ทั้งหมด เพื่อประหยัดหน่วยความจำและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมาร์ทโฟน
  • หากจำเป็นต้องใช้ Google Map / GPS นำทาง ควรใช้แผนที่แบบออฟไลน์ โดยเปิด Google Maps ขึ้นจากเมนูแล้วกดปุ่มแผนที่แบบออฟไลน์เพื่อทำการดาวน์โหลดพื้นที่ที่คุณต้องการ โดยใช้การเชื่อมต่อผ่าน Wi-Fi! นี่คือวิธีที่คุณสามารถประหยัดการใช้ข้อมูล GPS
  • ทำการสแกนไวรัสเป็นประจำ สม่ำเสมอ และนี่คือแอพเดียวที่คุณไม่สามารถจะละเลยได้!!






Content Cr: DestinationOne Counselor

Monday, July 9, 2018

มารู้จัก Chatbot กันเถอะ


มารู้จัก Chatbot กันเถอะ

เดี๋ยวนี้เราเริ่มได้ยินคำว่า Chatbot เข้ามามีบทบาทในการให้บริการหรือการส่งเสริมการตลาดของบริษัทต่างๆ มากขึ้น ในบทความนี้ Destination One จึงนำเอาสาระน่ารู้เกี่ยวกับเจ้า Chatbot นี้มาฝากคุณผู้อ่านค่ะ

Chatbot คือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จำลองการโต้ตอบบทสนทนาของมนุษย์ผ่านทางข้อความตัวอักษรหรือเสียง โดยเราสามารถตั้งคำถามหรือแจ้งคำสั่งกับ Chatbot เพื่อให้มันทำการตอบสนองหรือดำเนินการตามที่ถูกร้องขอ ซึ่งสามารถจัดได้ว่าเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) รูปแบบหนึ่ง และกำลังได้รับความนิยมนำมาใช้งานในภาคธุรกิจเป็นอย่างมากในขณะนี้

แม้ว่า Chatbot จะเป็นซอฟต์แวร์ที่ทำงานแบบอัตโนมัติและมีข้อจำกัดอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ก็มีข้อได้เปรียบที่มันสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วันในหนึ่งสัปดาห์ เรียกได้ว่าไม่จำเป็นต้องมีเวลาหยุดพัก สามารถประมวลข้อมูลและฟังก์ชั่นได้หลากหลาย และยังมีประสิทธิภาพสูงในด้านความรวดเร็วและแม่นยำ

โดยทั่วไปแล้ว Chatbot มีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภท ได้แก่
  1. Scripted คือ Chatbot ที่ทำงานตามสคริปท์ที่กำหนดมา
  2. Intelligent คือ Chatbot ที่ทำงานโดยปัญญาประดิษฐ์แบบ Natural Processing และ Voice Recognition
  3. Application คือ Chatbot ที่รวมเอา Scripted และ Intelligent มาผสมกัน แล้วผนวกกับการเขียนชุดคำสั่งและใส่ GUI (Graphic User Interface) ให้มีความสวยงาม


ในหลายครั้ง Chatbot ถูกเพิ่มเข้าไปเป็นหนึ่งในรายชื่อเพื่อนของกลุ่มผู้เล่นเกม เพื่อให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์ในระหว่างที่รอผู้เล่น “Live” คนอื่นมาเข้าร่วม ซึ่งมันก็สามารถทำหน้าที่ของมันได้ดีจนไม่มีใครสามารถจับได้ว่ากำลังคุยกับบอทอยู่

ทั้งนี้ เช่นเดียวกับเทคโนโลยีอื่นๆ ซึ่งย่อมต้องมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยข้อดีของการนำ Chatbot มาใช้ในภาคธุรกิจก็คือ ช่วยลดการปะทะอารมณ์ระหว่างผู้บริโภคและเจ้าหน้าที่บริการลูกค้าได้ดีขึ้น ผู้บริโภคไม่ต้องรอสายหรือรอคำตอบเป็นเวลานานเหมือนที่ผ่านมา ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้รวดเร็ว ตรงประเด็น และตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม Chatbot ยังเหมาะแค่เพียงการใช้งานที่ไม่ซับซ้อน ตอบคำถามหรือให้ข้อมูลที่มีการถามซ้ำบ่อยๆ และไม่เฉพาะเจาะจงมากนัก ซึ่งข้อจำกัดเช่นนี้อาจจะสร้างความหงุดหงิดและไม่พอใจให้กับผู้บริโภคได้ ดังนั้น เมื่อมีคำถามในเชิงลึกก็ยังจำเป็นต้องอาศัยเจ้าหน้าที่เป็นผู้จัดการเพื่อลดความผิดพลาดอยู่ดีนั่นเอง

Chatbot ยังถูกใช้เสมือนผู้ช่วยส่วนตัว เพื่อให้ผู้ใช้งานได้รู้สึกถึงการมีปฏิสัมพันธ์ ยกตัวอย่างเช่น Siri ของ Apple, Cortana ของ Microsoft, Echo ของ Amazon หรือ Alexa ของ Google

สุดท้ายนี้ ทีมงานยังมี Chatbot มาแนะนำให้คุณผู้อ่านได้ทดลองเล่นกันหลายตัว ตามลิงก์ที่เราได้รวบรวมมาให้ด้านล่าง ขอให้สนุกสนานในการสนทนากับ Chatbot นะคะ
  • Azure Bot Service: https://azure.microsoft.com/en-us/services/bot-service/
  • Bot Framework: https://dev.botframework.com/
  • Messenger Platform: https://developers.facebook.com/docs/messenger-platform/guides
  • Line Messaging API: https://developers.line.me/messaging-api/overview
  • Botpress: https://botpress.io/
  • Botsociety: https://botsociety.io/





Content Cr: DestinationOne Counselor

Photo Cr: iStockPhoto

Tuesday, June 19, 2018

มาตรการที่พึงมีเพื่อป้องกันเหตุข้อมูลรั่วไหล


มาตรการที่พึงมีเพื่อป้องกันเหตุข้อมูลรั่วไหล

ข้อมูลรั่วไหล เป็นความเสี่ยงสำคัญที่ทุกองค์กรจำเป็นต้องบริหารจัดการเพื่อให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้และสอดคล้องตามกฎหมายหรือข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจัยในปัจจุบันเอื้อต่อการเกิดข้อมูลรั่วไหลได้ง่ายขึ้น เพราะข้อมูลถูกจัดเก็บ ใช้งาน และส่งผ่านระบบหรือเครือข่ายต่างๆ อาทิ Internet, Cloud Computing, ฯลฯ ซึ่งผลกระทบในกรณีข้อมูลเกิดการรั่วไหล ไม่เพียงเป็นความเสียหายทางตัวเงินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือขององค์กร ซึ่งประเมินค่าไม่ได้อีกด้วย

แม้ว่าจะไม่มีหนทางใดที่สามารถป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ก็ยังมีมาตรการต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้เพื่อบริหารจัดการให้ความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ สมเหตุสมผลกับมูลค่าความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น

อย่างน้อยทุกองค์กรควรจะพิจารณาจัดให้มีมาตรการ 9 อย่าง ดังต่อไปนี้


มาตรการที่ 1 :  ต้องรู้ว่าอะไรคือข้อมูลสำคัญ และจัดทำทะเบียนข้อมูล 
     o ก่อนที่เราจะดูแลและปกป้องอะไรเราต้องรู้ก่อนว่าเรามีข้อมูลอะไร อยู่ที่ไหน แบบไหน อย่างไรบ้าง

มาตรการที่ 2 :  ต้องกำหนดและประกาศใช้งานนโยบายด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ
     o ต้องมีการกำหนดกรอบ นโยบายหรือแนวปฏิบัติเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ

มาตรการที่ 3  :  ต้องกำหนดบทบาทหน้าที่ในการดูและและปกป้องข้อมูล
     o ต้องกำหนดบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน

มาตรการที่ 4 :  ต้องให้ความรู้และสร้างความตระหนักทางด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ
     o ความตระหนักรู้และความรู้ด้านความมั่นคงปลอดภัยเป็นพื้นฐานที่สำคัญของความมั่นคงปลอดภัย

มาตรการที่ 5 : การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ต้องได้รับการควบคุมและบริหารจัดการอย่างเหมาะสม
     o ก่อนการเปลี่ยนแปลง ระหว่างการเปลี่ยนแปลง และหลังการเปลี่ยนแปลงต้องบริหารจัดการให้มีความมั่นคงปลอดภัย ต้องมีการวิเคราะห์ผลกระทบ มีแนวทางกู้คืนหรือแนวทางสร้างความต่อเนื่องทางธุรกิจ

มาตรการที่ 6 : ต้องกำหนดกระบวนการบริหารจัดการเหตุอุบัติการณ์หรือเหตุละเมิดด้านความมั่นคงปลอดภัย
     o ต้องรายงานเหตุผิดปกติ เหตุน่าสงสัย จุดอ่อนและช่องโหว่อย่างรวดเร็ว และต้องมีกระบวนการหรือวิธีการบริหารจัดการเหตุการณ์ต่างๆอย่างทันท่วงที

มาตรการที่ 7 : ต้องปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ประกาศและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
     o ต้องรู้ว่ามีกฎ ระเบียบ ประกาศหรือกฎหมายอะไรบ้างที่ต้องปฏิบัติตาม และได้ปฏิบัติตามแล้วหรือยัง

มาตรการที่ 8 : ต้องตรวจสอบและทดสอบด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศอย่างสม่ำเสมอ
     o ต้องหมั่นทบทวน ตรวจสอบและทบสอบมาตรการป้องกันด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศอย่างสม่ำเสมอตามรอบระยะเวลาหรือความเสี่ยงของระบบต่างๆ

มาตรการที่ 9 : ต้องเรียนรู้และปรับปรุงมาตรการด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศอยู่เสมอ
     o ต้องไม่หยุดนิ่ง ต้องเรียนรู้ ต้องพัฒนามาตรการด้านความมั่นคงปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา





Content Cr: DestinationOne Counselor
Photo Cr: Dreamstime