Wednesday, August 26, 2015

อาชญากรรมคอมพิวเตอร์..ฉลาดร้ายขึ้นทุกที



อาชญากรรมคอมพิวเตอร์..ฉลาดร้ายขึ้นทุกที

จากการเผยแพร่ผลสำรวจล่าสุดของ Trend Micro เราจะพบได้ว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2015 ที่เพิ่งจะผ่านมานั้น มีสถิติอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยมีวิธีการโจมตีที่ซับซ้อนแยบยลมากขึ้น โดยอาศัยช่องโหว่ของเทคโนโลยีที่มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน หรือผ่านจุดอ่อนที่อาจจะถูกมองข้ามไป ยกตัวอย่างเช่น การใช้ประโยชน์จาก Bug ของซอฟต์แวร์ที่ดูเหมือนไม่น่าจะมีอันตรายร้ายแรงอะไร แต่ก็สามารถแฮ็กระบบการบิน สมาร์ทคาร์ หรือสถานีโทรทัศน์ ได้สำเร็จ

อาชญากรเหล่านี้มักจะเลือกเหยื่ออย่างมีกลยุทธ์ และมีเป้าหมายชัดเจน โดย Ransomeware หรือการเรียกค่าไถ่ไซเบอร์เป็นรูปแบบของอาชญากรรมที่มาแรงที่สุด ซึ่งเหยื่อนั้นมักจะเป็นหน่วยงานรัฐบาล และสถานศึกษาเป็นส่วนใหญ่ เพราะองค์กรเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลเป็นจำนวนมาก และเมื่อลงมือแฮ็กได้สำเร็จก็จะทำให้กลุ่มผู้ก่อการมีชื่อเสียงเพิ่มขึ้นอีกด้วย


โดยสถานการณ์เด่นๆ ของการก่ออาชญากรรมคอมพิวเตอร์ในช่วงที่ผ่านมานั้น สามารถสรุปได้ดังนี้

  • เน้นการโจมตีที่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือเกิดการหยุดชะงักของบริการสาธารณะ เช่น ระบบขนส่งมวลชน, สถานีโทรทัศน์, โครงสร้างการสื่อสาร เป็นต้น
  • แฮ็กเกอร์ต้องการสร้างชื่อเสียงให้กับตนเองในวงกว้าง ด้วยการโจมตีในรูปแบบ Ransomeware และการโจมตี PoS
  • หน่วยงานราชการต่างๆ มีความตื่นตัว และพยายามเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการโจมตีมากขึ้น
  • การโจมตีที่หนักข้อขึ้นนี้ ทำให้ผู้ใช้งานทั้งในฐานะองค์กรและส่วนตัว เกิดความไม่แน่ใจในความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล
  • เว็บไซต์สาธารณะ และอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ ต้องเผชิญกับการโจมตีรูปแบบใหม่ๆ ที่ซับซ้อนและรุนแรงขึ้นทุกวัน

ผลการสำรวจนี้ อาจจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสำหรับความฉลาดร้ายของเหล่าอาชญากรที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นการตอกย้ำให้ต้องใส่ใจกับความมั่นคงปลอดภัยของเราอย่างใกล้ชิดขึ้นมากขึ้นต่างหากครับ




Content Cr: Net-Security.org / DestinationOne Counselor
Photo Cr: Livetradingnews.com



Thursday, August 20, 2015

10 คุณประโยชน์ของการบริหารความเสี่ยง



10 คุณประโยชน์ของการบริหารความเสี่ยง

“ความเสี่ยง” คือสิ่งที่ทุกธุรกิจไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น ทุกองค์กรจึงจำเป็นต้องมีกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อประเมิน วิเคราะห์ ปรับปรุง และแก้ไขความเสี่ยงต่างๆ ให้อยู่ในระดับที่สามารถยอมรับได้ (Acceptable Level) รวมถึงวางแผนกำหนดกลยุทธ์หรือมาตรการเพื่อควบคุมและรับมือภัยคุกคามต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจขององค์กรสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องราบรื่นและมั่นคง

สำหรับองค์กรที่มีกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีนั้น จะสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากมันได้เต็มที่อย่างมากมาย โดยทีม Destination One ได้รวบรวมประโยชน์เบื้องต้นมาให้ท่านได้พิจารณาดังต่อไปนี้



  • ธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง :  การรู้จักบริหารความเสี่ยงย่อมทำให้องค์กรสามารถเจริญเติบโตและฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ไปได้
  • สร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน : ความปลอดภัยของชีวิตเป็นสิ่งแรกที่ทุกองค์กรต้องพึงกระทำ
  • ส่งเสริมและรักษาภาพลักษณ์ :  ความสามารถในการจัดการปัญหาหรือข้อผิดพลาดต่างๆ ย่อมส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งภาพลักษณ์อันดีของบริษัท
  • สอดคล้องตามความต้องการของผู้ถือหุ้นและผู้ที่เกี่ยวข้อง : ความต้องการของผู้ถือหุ้นก็เป็นหนึ่งในข้อกำหนดที่ทุกองค์กรต้องรู้จักบริหารจัดการให้ได้
  • สอดคล้องตามกฎหมายและข้อสัญญาต่างๆ : กฎหมายทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับองค์กร คือความจำเป็นที่ต้องปฏิบัติตามให้ได้ รวมถึงสัญญาและข้อตกลงต่างๆ ก็ต้องได้รับการบริหารจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสม
  • เพิ่มความมั่นคงปลอดภัย :  การบริหารความเสี่ยงที่ดีย่อมทำให้องค์กรมีความมั่นคงปลอดภัยมากขึ้นตามไปด้วย
  • สร้างความต่อเนื่องในการผลิตหรือให้บริการ : เมื่อภัยคุกคามต่างๆ ได้รับการบริหารจัดการ โอกาสที่ธุรกิจจะหยุดชะงักย่อมลดลงตามไปด้วยเสมอ
  • ลดต้นทุนและประหยัดค่าใช้จ่าย : เมื่อสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงต่างๆ  ได้ ย่อมส่งผลให้องค์กรไม่มีต้นทุนในการแก่ไขปัญหาหรือเหตุละเมิดต่างๆ เพิ่มเติมจากแผนงานที่ได้วางเอาไว้
  • ความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ :  ความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรต้องเข้าใจและต้องบริหารจัดการให้ได้ แม้อาจจะไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งหมด แต่ก็ต้องจัดการให้อยู่ในระดับที่องค์กรสามารถยอมรับได้
  • เพิ่มโอกาสและสร้างความแตกต่าง :  องค์กรที่สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงต่างๆ ได้ดี ย่อมเพิ่มโอกาสในการขยายหรือต่อยอดธุรกิจ

นอกจากนี้ การบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพยังส่งผลดีต่อองค์กรทั้งทางตรงและทางอ้อมในอีกหลายด้าน ผู้บริหารระดับสูงของทุกองค์กรจึงควรมีวิสัยทัศน์และให้การสนับสนุน เพื่อให้คณะทำงานสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะสร้างประโยชน์สูงสุดและความพึงพอใจร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนั่นเอง




Content Cr: DestinationOne Counselor
Photo Cr: Dreamstime.com

Wednesday, August 12, 2015

12 ความเชื่อที่ควรทำเข้าใจใหม่เกี่ยวกับ “ความมั่นคงปลอดภัย”



12 ความเชื่อที่ควรทำเข้าใจใหม่เกี่ยวกับ “ความมั่นคงปลอดภัย”

ความเชื่อเกี่ยวกับการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยต่างๆ ที่บอกเล่าต่อกันมา ตั้งแต่วันที่เราเริ่มตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้กันใหม่ๆ เมื่อล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน หลายเรื่องได้รับการพิสูจน์แล้วว่า เราควรจะทบทวนเกี่ยวกับ “ความเชื่อ” เหล่านี้กันอีกครั้ง เพื่อปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ที่ใช้ให้สอดคล้องตามความเป็นจริงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อเกือบสองทศวรรษที่แล้ว องค์กรส่วนใหญ่มักจะบริหารจัดการโดยใช้วิธีการตั้งสมมติฐาน วิเคราะห์ความเสี่ยงและปัจจัยจากสภาพแวดล้อมในยุคนั้น รวมถึงอาศัยองค์ความรู้จากทฤษฎีที่มีอยู่อย่างจำกัด อีกทั้งยังขาดความเข้าใจและการสนับสนุนจากผู้บริหารและบุคลากรในองค์กร

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกองค์กรควรจะหันกลับมาทบทวนความเชื่อและแนวทางในการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยของตนเองเสียใหม่ โดยทีมที่ปรึกษา Destination One ได้รวบรวมหัวข้อความเชื่อที่คนทั่วไปมักจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศมาให้ทุกท่านได้พิจารณา ว่าองค์กรของท่านได้ปรับทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ให้ตรงกับความเป็นจริงในปัจจุบันนี้แล้วหรือยัง



12 ความเชื่อที่ควรปรับเปลี่ยนมุมมองใหม่สำหรับ “ความมั่นคงปลอดภัย”

  1. ระบบที่จัดซื้อมามีความมั่นคงปลอดภัยอยู่แล้ว ไม่ต้องทำไรเพิ่มเติม
  2. ข้อมูลเมื่อบันทึกไว้ในระบบแล้วย่อมมั่นคงปลอดภัย
  3. ความมั่นคงปลอดภัยไม่ใช่หน้าที่ของผม 
  4. ความมั่นคงปลอดภัย ไม่ใช่ Core Business ขององค์กร
  5. ความมั่นคงปลอดภัย คือ “งานเพิ่ม” จึงไม่มีใครอยากทำ
  6. ทุกวันนี้ระบบมันก็ดีและเสถียรอยู่แล้ว จะไปยุ่งกับมันทำไม
  7. เรามีระบบคู่ขนาน ไม่ว่าจะเกิดเหตุอะไรขึ้นก็ไม่มีทางล่ม
  8. ระบบของเราไม่มีจุดอ่อน ไม่มีช่องโหว่ เพราะ Vendor เขาบอกมา
  9. เรามีกระบวนการควบคุมที่ดีอยู่แล้ว
  10. ไม่มีอะไรที่เป็นความลับ คนในองค์กรเดียวกันยังไงก็รู้กันได้
  11. ระบบของเรามีมาตรการป้องกันแน่นหนา ย่อมไม่มีใครเจาะเข้ามาได้
  12. เรื่องความมั่นคงปลอดภัย เป็นเรื่องของ IT

เรื่องของการบริหารความมั่นคงปลอดภัยเป็นกระบวนการที่ต้องจัดการและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงและเทคโนโลยี เพราะระบบที่มั่นคงปลอดภัยในวันนี้ อาจจะมีจุดอ่อนขึ้นมากะทันหันในวันต่อมา และจะต้องพึงระลึกไว้เสมอว่าความมั่นคงปลอดภัยจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยความตะหนักรู้และความร่วมมือจากทุกฝ่ายในองค์กร




Content Cr: DestinationOne Counselor
Photo Cr: EffectDigital.com