บทวิเคราะห์ความมั่นคงปลอดภัยของสนามบิน
หนึ่งในบรรดาข่าวฮือฮาบนสื่อต่างๆ
เมื่อไม่นานมานี้ ย่อมหนีไม่พ้นเรื่องของ “การลักลอบนำอุปกรณ์เทียบเคียงอาวุธปืนและการแอบแฝงตัวของบุคคลแปลกปลอมขึ้นเครื่องบินโดยสาร”
คำถามที่ผู้อ่านทุกคนย่อมนึกสงสัยก็คือ แล้วมันเกิดขึ้นได้ยังไง??
เมื่อวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ของสาเหตุปัญหา
ในมุมมองของผมนั้นขอแบ่งออกเป็น 4 แง่มุม..
เริ่มต้นกันที่เรื่องแรกก็คือ (1) Process ซึ่งผมคิดว่าโดยทั่วไปแล้วมาตรการรักษาความปลอดภัยและขั้นตอนการปฏิบัติงานต่างๆ
ย่อมต้องมีการเขียนขึ้นอย่างรอบคอบชัดเจน สอดคล้องตามมาตรฐานสากลการบินพลเรือนที่มีการบังคับใช้อยู่
ผมจึงค่อนข้างมั่นใจว่าปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นจากความบกพร่องของกระบวนการ
แต่จากนี้ไปการทบทวนและปรับปรุงกระบวนการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นถือเป็นเรื่องจำเป็น
มุมมองที่สองต้องดูกันที่
(2)
People ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานต่างๆ ตามความรับผิดชอบของตนตามที่กระบวนการได้กำหนดไว้
อาทิ การควบคุมการเข้าออกพื้นที่ การตรวจสอบสัมภาระ ผมคิดว่ามีความเป็นได้สูงที่ปัญหาอาจจะเกิดจากความผิดพลาดในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากร
ลองคิดถึงสัมภาระจำนวนมากที่พวกเขาต้องตรวจสอบจนไม่สามารถรักษาความเคร่งครัดได้ในเวลาเร่งด่วน
ความเหนื่อยล้าเจ็บป่วยของร่างกาย ความประมาทชะล่าใจ
หรืออาจจะถูกล่อหลอกด้วยเทคนิคใดๆ จนปล่อยให้บุคคลแปลกปลอมหรือสิ่งเทียมอาวุธผ่านขึ้นเครื่องบินไปได้
ที่สำคัญที่สุดก็คือหลายครั้งที่ผมพบว่าเจ้าหน้าที่ให้บริการตามสนามบินยังขาดความตระหนักรู้ถึงความมั่นคงปลอดภัย
(Security Awareness)
ถัดมาในมุมมองด้าน
(3)
Technology ซึ่งได้แก่เครื่องมือทันสมัยต่างๆ ที่ติดตั้งอยู่ในสนามบินเพื่อใช้ในการรักษาความมั่นคงปลอดภัย
ควบคุมการเข้าออก ตรวจสอบสัมภาระ ฯลฯ อุปกรณ์เหล่านี้อาจจะไม่ใช่สาเหตุหลักของปัญหา
แต่ในอีกทางหนึ่งมันอาจจะมีจุดอ่อนหรือช่องโหว่ที่ผู้ก่อการร้ายหัวใสสามารถอาศัยใช้ประโยชน์ได้
เช่น
การลักลอบผ่านเข้าพื้นที่ควบคุมผ่านทางมุมอับซึ่งรัศมีของกล้องวงจรปิดไม่สามารถจับภาพได้
เป็นต้น
สุดท้ายผมอยากเสนอให้ลองมองในมุมของ
(4)
ISO 27001:2013 ตามข้อกำหนดและมาตรการควบคุมภายใต้หัวข้อ A.11ความมั่นคงปลอดภัยทางกายภาพ (Physical and Environmental Security)
อาทิ A.11.1.1 Physical Security
Perimeter และ A.11.12 Physical Entry
Control เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการละเลยไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านั้น
ทำให้เกิดจุดอ่อนหรือช่องโหว่ที่เอื้อให้ผู้ประสงค์ร้ายสามารถลักลอบนำตนเองและสิ่งเทียมอาวุธขึ้นเครื่องบินได้อย่างง่ายดาย
จากผลการวิเคราะห์ข้างต้น
ผมจึงอยากเสนอแนะแนวทางปรับปรุงเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา ดังนี้
>> ควรมีการพิจารณาหาจุดอ่อนและช่องโหว่อย่างรอบคอบ
เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องรัดกุมขึ้น โดยมองหาจุดสมดุลย์ระหว่างการรักษาความมั่นคงปลอดภัยและการให้บริการลูกค้า
ถึงแม้ว่าการมุ่งหวังให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายสูงสุดจะเป็นเรื่องสำคัญของสายการบิน
แต่ก็ไม่ควรผ่อนปรนจนต้องลดประสิทธิภาพของมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยลงโดยเด็ดขาด
>> ในส่วนของกระบวนการนั้น
ควรมีการตรวจประเมินภายใน (Internal Audit) หรือมีการทำ
Control Self Assessment บ่อยขึ้นอย่างสม่ำเสมอ
>> การปรับปรุงคุณภาพของบุคลากรก็เป็นเรื่องสำคัญ
เช่น การเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ให้เหมาะสมกับภาระงาน, การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงปลอดภัย,
การตรวจสุขภาพและสมรรถภาพของพนักงาน เป็นต้น
>> สำหรับเทคโนโลยีนั้น
ควรจะมีการทบทวนมาตรการด้านความมั่นคงปลอดภัยทางกายภาพ โครงสร้างพื้นฐานของสนามบิน
เพื่อปรับปรุงการใช้งานเครื่องมือและเทคโนโลยีต่างๆ ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด
และแก้ไขจุดอ่อนที่มีอยู่เดิม
ในการปฏิบัติงานต่างๆ
หากต้องเกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพของประชาชนมากเท่าใด
องค์กรและหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ยิ่งต้องมุ่งเน้นการรักษาความมั่นคงปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น
จุดอ่อนหรือช่องโหว่แม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่สามารถปล่อยปละละเลยได้ เพราะความผิดพลาดเพียงนิดอาจนำมาซึ่งความเสียหายใหญ่หลวงจากน้ำมือผู้มุ่งร้ายที่คอยจังหวะโจมตีอยู่แล้วก็เป็นได้
Content
Cr: DestinationOne Counselor
Photo
Cr: ABC News / MorgueFile.Com
No comments:
Post a Comment
Note: Only a member of this blog may post a comment.