Tuesday, February 4, 2014

ทำอย่างไรให้ธุรกิจเดินไปได้อย่างมั่นคงต่อเนื่อง

ทำอย่างไรให้ธุรกิจเดินไปได้อย่างมั่นคงต่อเนื่อง

** ประภาคาร คือ สิ่งก่อสร้างที่ทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์มานานนับหลายศตวรรษ โดยช่วยนักเดินเรือในการสังเกตหาสิ่งผิดปดติและส่งสัญญาณเตือนภัย หากวันใดประภาคารดับแสงลง และคุณเป็นนักเดินเรือที่ผจญอยู่ท่ามกลางพายุ.. คุณจะทำเช่นไร??


โลกของเรามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างไม่เคยหยุดยั้ง เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าช่วยอำนวยความสะดวกรวดเร็วในการทำงาน สร้างโอกาสใหม่ๆ ทางการค้า ขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจเจริญเติบโตขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนและภาระค่าใช้จ่ายลงได้อีกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่ในปัจจุบันนี้ ทุกองค์กรก็ล้วนแล้วแต่มีการใช้งานไอทีกันทั้งสิ้น
 
อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงและเทคโนโลยีก็นำมาซึ่งความเสี่ยงด้วยเช่นกัน ภัยคุกคามทุกวันนี้มีจำนวนมากมายมหาศาล หลากหลายรูปแบบ และมีความซับซ้อนรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ถึงแม้ว่าในหลายองค์กรจะตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ และจัดให้มีระบบควบคุมที่ (ประเมินว่า) ดีแล้วก็ตาม แต่ความเสี่ยงบางอย่างก็อยู่เหนือความคาดหมายหรือไม่สามารถป้องกันได้ อาจนำมาซึ่งหายนะ อาทิเช่น น้ำท่วม, แผ่นดินไหว, ไฟไหม้, ภัยธรรมชาติ, เหตุวินาศกรรม, การประท้วง หรือการก่อจราจล เป็นต้น ซึ่งภาวะเหตุการณ์ไม่ปกติเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น องค์กรต่างๆ จึงต้องมีการเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เพื่อให้ธุรกิจของตนยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่หยุดชะงัก


หากเกิดภาวะฉุกเฉินขึ้น คนแรกที่จะต้องเข้ามารับผิดชอบดูแล และทำความเข้าใจกับสถานการณ์ก็คือ “ผู้บริหารระดับสูง หรือ เจ้าของกิจการ” นั่นเอง เพราะเป็นบุคคลที่รู้จักโครงสร้างทางธุรกิจโดยรวมขององค์กรทั้งหมด สามารถบริหารจัดการ และมีอำนาจการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ดีที่สุด ผู้บริหารจึงต้องมีการวางแผนที่รัดกุมรอบคอบเพื่อรองรับสถานการณ์ในรูปแบบต่างๆ ที่อาจจะสร้างความเสียหายต่อธุรกิจ หรือกระทบต่อชื่อเสียงขององค์กร โดยดำเนินการดังต่อไปนี้.. (1) กำหนดกลยุทธ์ด้านการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Strategy) เป็นอย่างแรก (2) มอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบสำหรับพนักงานและทีมงาน รวมถึงมีการฝึกอบรมบุคลากรให้ตระหนักถึงแนวทางการปฎิบัติงานในภาวะไม่ปกติ (3) วางแผนรองรับความเสี่ยง โดยแผนนี้จะต้องได้รับการทดสอบและมีการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ ด้วยการจำลองเหตุการณ์ฉุกเฉิน ซักซ้อมบุคลากรที่เกี่ยวข้องตามแผน และดำเนินการประเมินผล (4) หาสถานที่ปฎิบัติงานสำรอง เพื่อให้สามารถย้ายสำนักงานชั่วคราวและปฎิบัติงานได้ทันที (5) มีการสำรองข้อมูลสำคัญขององค์กรอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ข้อมูลที่จำเป็นต่อการทำงานมีความถูกต้องครบถ้วน และพร้อมใช้งานตลอดเวลา
 
กล่าวโดยสรุปได้ว่า กุญแจสำคัญที่ผลักดันให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างมั่นคงต่อเนื่องนั้น มีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ ได้แก่ ผู้บริหาร, ทีมงาน และ เครื่องมือ/กระบวนการที่วางแผนเลือกนำมาใช้นั่นเอง.



**นิยามของคำว่า “หายนะ” ก็คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันและร้ายแรง จนทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักโดยไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า
 
Content Cr: DestinationOne Counselor
Photo Cr: Stock.Xchng, PostToday

No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.